เนื่องจากช่วงที่ผู้เขียนเตรียมบทความนี้ตรงกับเทศกาลการกินเจพอดี ซึ่งปีนี้เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 19-28 ตุลาคม ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ของการทานอาหารเจที่ถูกต้อง และให้ประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพร่างกายและในด้านจิตวิญญาณอีกด้วย เพราะมีหลายคนที่อยากทานอาหารเจ เเต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และอาจกลัวว่าหลังจากทานเจครบ 10 วันแล้วน้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้น โรคไขมันความดัน โรคอ้วน และโรคอื่นๆอาจตามมาอีกมากมาย ฉบับนี้ผู้เขียนจึงมีเมนูอาหารเจสำหรับคนเป็นที่ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง มาฝากกันด้วย
ตัวผู้เขียนเองมีประสบการณ์ของการใช้อาหารเป็นยา จากการที่ต้องดูแลคุณพ่อมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไขมันในเส้นเลือดและไตรกลีเซอไรด์ ส่วนคุณแม่ที่มีความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติ แต่ตอนนี้ท่านทั้งสองมีค่าความดัน รวมถึงไขมันในเลือดที่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ถึงอย่างไรเราก็จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มาก เพราะโรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่ได้มาจากเชื้อโรค แต่มาจากพฤติกรรมการทานอาหารตามใจตนเอง โดยเราจะพบว่าเด็กไทยป่วยเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานมากขึ้น วัยรุ่นเองไม่ค่อยชอบทานผักและผลไม้ ทุกวันนี้เราทานแป้งและน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น ยิ่งคนสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาทำอาหารทานเองที่บ้าน จึงต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ร้านอาหารหรือร้านค้าสะดวกซื้อก็เกิดขึ้นมากมาย สร้างความสะดวกสบายในการทานอาหารให้กับเราอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วยิ่งเราพึ่งความสะดวกสบายมากเท่าไหร่ เราก็ใส่ใจกับตนเองน้อยลง และส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นตามนั้น
วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำอาหารที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และความดันโลหิตสูง ด้วยส่วนประกอบหลัก คือ “เห็ด” ไม่ว่าจะเป็นเห็ดฟาง เห็ดออรินจิ ที่ช่วยในเรื่องของการลดไขมันในเส้นเลือด เห็ดนางฟ้าที่ช่วยลดความดันโลหิตสูง และเห็ดเข็มทองที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วน ผสมด้วยสมุนไพรไทยหลากหลาย เช่น กระชายสีเหลือง ที่มีสรรพคุณทางยา และได้ชื่อว่าโสมของเมืองไทย เหมาะกับทั้งผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ กระชายจะไปปรับความดันให้กลับมาเป็นปกติ และช่วยให้กระดูกแข็งแรง เหมาะสำหรับผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงก่อนหมดประจําเดือนหรือวัยทอง
และผักอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคไขมันในเส้นเลือด คือ มะเขือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเจ้าพระยา มะเขือพวงลูกเล็กที่ใส่ในน้ำพริกกะปิ หรือ แกงกะทิต่างๆ หรือ ใช้เป็นผักสดกินกับน้ำพริก ก็จะช่วยลดไขมันได้เป็นอย่างดี และยังเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอีกด้วย โดยเฉพาะมะเขือยาว จะมีสรรพคุณที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี แต่จะต้องนำมาทำในรูปแบบของอาหารที่ปราศจากการผัดและการทอดด้วยน้ำมันหรือแกงกะทิ
เมนูที่แสนง่ายสำหรับช่วยลดไขมันในเส้นเลือด คือ คั่วกลิ้งเห็ด
เครื่องปรุง 1.พริกแกงคั่วกลิ้ง เราอาจจะไปหาซื้อตามร้านที่ขายพริกแกงของทางใต้
เผ็ดมากหรือน้อยแล้วแต่ใจชอบ 2.เห็ดฟาง เห็ดออรินจิ เห็ดหอมสด
เห็ดนางฟ้า อย่างละเท่ากัน นำมาสับให้ละเอียด 3.เต้าหู้แข็งสีขาว 1 แผ่น นำมาขยำให้ละเอียด 4. ซีอิ๊วขาว
5.ซอสเห็ดหอม(แทนน้ำมันหอย) 6.น้ำตาลทรายสีแดง 2 ช้อนชา 7.ใบมะกรูดหั่นฝอย
วิธีการทำ คือ เอาน้ำมันรำข้าวประมาณ 1
ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปในกระทะ และตามด้วยน้ำพริกคั่วกลิ้งปริมาณตามชอบ
ผัดด้วยไฟปานกลางให้หอม ใส่ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วขาว ตามด้วยน้ำตาลทราย
และใส่เต้าหู้ลงไปผัดให้แห้ง จากนั้นใส่เห็ดออรินจิลงไปผัดก่อน ตามด้วยเห็ดหอมสด
เห็ดฟาง และเห็ดนางฟ้าอันดับสุดท้าย ชิมรสชาติตามใจชอบ แล้วจึงใส่ใบมะกรูดหั่นฝอยเป็นอันเสร็จ
ผู้เขียนอยากให้ทุกคนใช้สติในการทานมากขึ้น พิจารณาให้ดีว่าอาหารแต่ละจานที่เราทานนั้น มีส่วนประกอบอะไร ส่งผลอย่างไร มีคุณประโยชน์อะไร เพราะ you are what you eat ดังนั้นเราจึงต้องทานอาหารให้เป็นยา เพื่อไม่ให้ทานยาเป็นอาหารนะคะ