โดย หมอดิน ศิรฐเมฆา เวฬุภาค
ผมมีความเชื่อว่า ร่างกาย กับ จิตใจ นั้นสัมพันธ์กัน
เมื่อกายป่วย ใจก็ป่วย เช่นเดียวกัน เมื่อใจป่วย กายก็ป่วย
ความเชื่อก็ยังคงเป็นแค่ความเชื่ออยู่อย่างนั้น แต่ความเชื่อครั้งนี้ทำให้ผมออกเดินทางไปศึกษาการแพทย์แผนธิเบต
การแพทย์ที่มีตำราเล่มเดียวกับวัชรตันตระในพุทธศาสนา
การแพทย์ที่เชื่อว่า ความป่วยไข้ มีรากฐานมาจากจิตใจพอๆ กันกับร่างกาย ดังในภาพเขียนต้นไม้แห่งการรักษา ซึ่งเป็นภาพเขียนทังกาที่แสดงให้เห็นถึงความสมดุล และไม่สมดุลในชีวิตของมนุษย์ แพทย์ธิเบตเชื่อว่า การที่พลังงานในร่างกายสมดุล ก็จะมีโอกาสใช้ชีวิตในการทำความเข้าใจโลกและสรรพสิ่ง นำพาชีวิตในเจริญในทางธรรมและใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์กับโลกใบนี้ ในขณะที่โรคภัย มีรากมาจากอวิชชา ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของ “ทุกข์”
สิ่งแรกเป็นสิ่งที่ผมถูกสอนอยู่เสมอระหว่างที่ผมไปเรียน คือ การเห็นความทุกข์ของคนไข้ที่มาหา ครูของผมสอนว่า เมื่อเราตระหนักถึงความเดือดร้อนจากโรคภัยที่เขากำลังเผชิญ ความเมตตาในใจก็จะเกิดขึ้นในใจของผู้ทำหน้าที่รักษา หน้าที่ของคนที่เป็นหมอจึงมีต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พึงกระทำได้เพื่อให้คนไข้พ้นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษากายหรือรักษาใจ
การแพทย์แผนธิเบตมาจากตำรา กวิชี (rGyud bZhi) หรือ Tibetan Medical Tantra ซึ่งเป็นตำราที่ได้รับอิทธิพลทางการแพทย์มาจากอายุรเวทของอินเดีย การแพทย์แผนจีน และการแพทย์แบบอาหรับ
ผมอนุมานว่า คนอ่านหนังสือเล่มนี้คงคุ้นเคยกับอายุรแพทย์เป็นอย่างดี ที่แบ่งการทำงานของกายและจิตที่ถูกควบคุมโดยพลังงานพื้นฐาน ๓ ส่วน คือ วาตะ ปิตตะ และกผะ โดยพลังงานที่ว่านี้ได้มาจากธาตุในวัฏฏะที่สำคัญทั้ง ๕ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ ซึ่งก่อกำเนิดสรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาล ในการแพทย์แผนธิเบตก็เช่นเดียวกัน แม้มีรายละเอียด และกระบวนการรักษาที่แตกต่างกันออกไป แต่ต้นกำเนิดการอธิบายถึงหลักการนั้นมีหลักการคล้ายกันเพียงแต่ในการแพทย์แผนธิเบตจะใช้คำว่า
rLung หรือ “ลุง” แทนวาตะหรือ ธาตุลม
Tripa หรือ “ทีปะ” แทน ปิตตะ หรือ ธาตุไฟ
Badken หรือ เพคเคน แทน กผะ หรือ ธาตุดิน+น้ำ
ในบทความชิ้นนี้ผมจึงขอเขียนถึง “จิต” ที่สัมพันธ์กับ ตรีธาตุ และส่งผลกับโรคภัยไข้เจ็บหรืออาการต่างๆ
rLung “ลุง” สัมพันธ์กับ โลภะ หรือความโลภ หมายถึงความติดใจ พอใจ ติดยึดในการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เมื่อติดใจก็เกิดความอยากอย่างรุนแรง พยายามใช้พลังความคิดเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา เมื่ออยากได้แล้วไม่ได้ ยึดมั่นมาก ครุ่นคิดติดยึดมากก็ทำให้ธาตุลมแปรปรวน เสียสมดุล และหากผนวกเข้ากับความโกรธอันมีรากมาจาก “ทีปะ” หรือธาตุไฟด้วยนั้น พลังแห่งลมที่กระพือให้เพลิงพวยพุ่ง ก่อให้เกิดโรคภัยอาทิ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมอง หัวใจตีบ ร้อนใน ผิวหนังพุพอง เกิดโรคตับ โรคถุงน้ำดีอักเสบ
คนที่ป่วยจาก rLung ที่ไม่สมดุลนั้น มักนอนไม่ค่อยมีคุณภาพ อ่อนไหว หงุดหงิด ฉุนเฉียว ฟุ้งซ่าน อารมณ์แปรปรวน การรับประทานอาหารอุ่นๆ ร้อนๆ มีประโยชน์ อยู่ในที่ที่มีอากาศอบอุ่น หรือการนวดด้วยน้ำมันงาอุ่นๆ สามารถผ่อนคลายระบบประสาท นอกจากนั้นการฝึกสมาธิ สร้างความสงบในใจ การให้ทาน จะช่วยผ่อนแรงของโลภะได้ดียิ่งขึ้น คนที่ธาตุลมเสียสมดุล ควรงดเนื้อวัว เนื้อหมู อาหารที่มีเปลือกต่างๆ ชาเข้มๆ แก่จัด อาหารที่เย็นๆ อาหารที่มีรสขม อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ผักสลัด และผักสด
Tripa หรือ ทีปะ สัมพันธ์กับ ความโกรธ ความเกลียด (โทสะ) ผมยกตัวอย่างว่า เมื่อเราเกิดความอยากมากๆ ต้องการสิ่งใดมากๆ คนที่มีทีปะมาก ก็จะใช้ความพยายามพุ่งเป้า เอาชนะทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา หากไม่ได้มาก็จะเกิดความรู้สึกโกรธ ลองสังเกตคนที่โกรธจัดหน้าแดง หรือตัวเราเองที่กำลังโกรธ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น ความโกรธนี้จะเผาไหม้คนโกรธก่อน เพราะเป็นพลังงานที่ทำให้เลือดลมในตัวพุ่งพล่าน บางครั้งทำให้รู้สึกถึงรสขมในปาก ปวดศีรษะ ปวดช่วงบน
คนที่เจ็บป่วยด้วยทีปะเสียสมดุล ควรงดเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ อาหารเผ็ดร้อน ของทอด ของมัน งดเนื้อสัตว์ประมาณ 1-2 เดือน งดการนวด ควรผ่อนกิจกรรมทางกายลง การนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ มีลมผ่าน ใกล้ๆ -แม่น้ำ ใกล้ธรรมชาติ ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกสบายใจ รวมถึงการเจริญเมตตาภาวนา บ่มเพาะความรักความปรารถนาดีให้เกิดขึ้นในใจนั้น เป็นการช่วยให้ธาตุไฟในตัวเข้าสู่ความสมดุล
ธาตุสุดท้าย คือ Badkan หรือ เบคเคน หรือธาตุดิน-น้ำ ที่ส่งผลกับโมหะ ซึ่งเกิดจากความเห็นผิด อาจารย์ของผมเคยยกตัวอย่างให้ฟังว่า ความหลงอันหนึ่งที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเพคเคนแปรปรวน คือ หลงยึดว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นดีแล้ว ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความเกียจคร้าน เห็นผิดยังไงก็เห็นผิดอยู่อย่างนั้น ผู้ป่วยด้วยธาตุดิน-น้ำแปรปรวน เมื่อผนวกกับลมที่กระพือพัดไปทั่งร่างกาย ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อย เนื้อตัวหนัก เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ความดันต่ำ แพ้อากาศ ทำให้เกิดโรคปอด และโรคระบบทางเดินอาหารเป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักทานอาหารรสหวานมากเกิน หรือทานอาหารเย็นๆ เป็นเวลานาน ทำให้การเผาผลาญในร่างกายอ่อนกำลังลง และพัฒนาไปสู่ความป่วยไข้ คนที่เจ็บป่วยด้วยเบคเคนแปรปรวนนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุง เช่น ผลไม้สด ผักสด งดรับประทานอาหารที่มีมันมาก ไม่ควรทานอาหารในตอนเย็นที่ไม่มีแสงแดด ดื่มนี้อุ่นในตอนเช้า หรือดื่มน้ำต้มสุกบ่อยๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการกระตุ้นความร้อนในร่างกายและช่วยย่อยอาหาร การเจริญปัญญา เพื่อให้ออกจากเมฆหมอกแห่งอวิชชาก็จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ออกจากโมหะโทษได้
สุขภาพที่ดีเกิดจากความสมดุลของธาตุทั้งสามในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดซึ่งเป็นของเหลว (Badkan) เริ่มต้นจากพลังงานของลม หรือ rLung และอุณหภูมิของเลือดที่มั่นคงคือ Tripa หรือไฟ ซึ่งเป็นอุณหภูมิของร่างกาย การรักษาโดยหลักการแพทย์แผนธิเบตจึงให้การแนะนำทางโภชนาอาหารที่ถูกต้องกับธาตุที่เสียสมดุล การใช้ยาสมุนไพร และการให้หลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต และเยียวยาจิตใจ
���$8F