โดย ครูเก๋ วรารักษ์ สู่โนนทอง
ทูตโยคะหัวเราะ และผู้เขียน “พลังแห่งโยคะนิทรา” และ “ปลดล็อคอัจฉริยะด้วยโยคะนิทรา”
โยคะ ช่วยพาเราเดินทางไปถึงส่วนลึกที่สุดภายในใจของเราได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนความเป็นตัวของเราเอง นั่นคือ การฝึก ตั้งปณิธาน หางเสือในชีวิต หรือในภาษาสันสกฤตเรียกว่า Sankalpa
ส่วนมากเรามักจะตั้งปณิธานสำหรับปีใหม่ด้วยคำว่า “ฉันจะ” เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ตัวเองในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นเป้าหมายและเป็นจินตนาการว่าเราจะเป็นสุขได้อย่างไร จะได้อะไร ต้องการอะไร หากรู้ไหมว่า “เรากำลังเข้าใจผิด” เพราะมันกลับกลายเป็นความต้องการที่เกิดขึ้นจากอีโก้ของเรา การรับรู้อันจำกัดของเรา และกลับกลายเป็นการ “ขีดกรอบ” ไปเสีย ซึ่งนั่นทำให้ ปณิธานที่เราตั้งไว้ มักไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันกลายเป็นว่า เราตั้งปณิธานไว้ด้วยขอบความคิดที่ว่า “เรายังไม่ดีพอ” และตั้งกรอบไว้ว่า เมื่อเราได้รับในสิ่งนั้นเราจึงจะมีความสุข
โยคะ มอบทางเลือกสำหรับการตั้งปณิธานสำหรับปีใหม่ไว้ ด้วย “หางเสือ” หรือ Sankalpa บนพื้นฐานจากสิ่งที่เรามีอยุ่แล้ว เพื่อเสริมในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว่ให้หนักแน่นแข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก แค่ทำใจให้แกร่งขึ้น เชื่อมต่อกับสิ่งที่เราต้องการที่เรียกร้องอยู่ภายในใจของเราอยู่แล้ว และเปิดช่องทางให้พลังงานที่ยิ่งใหญ่มาเสริมกำลังของเรา
“สถาปนิกที่ดีที่สุดสำหรับเราก็คือใจของเรา”
การตั้ง Sankalpa ก็คือการที่เราบอกย้ำให้แก่ใจของเรา ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเรา และเป็นหางเสือนำทาง
ส่วนมากแล้ว เวลาเราตั้งใจบอกตัวเองว่าจะทำอะไรใหม่ๆ สำหรับปีใหม่ ยอมรับความจริงไหมว่า “เรามักจะไปไม่รอด” ทำได้ไม่กี่สัปดาห์ ไม่กี่วันก็ทิ้ง ล้มเลิก หมดช่วงปีใหม่ อารมณ์เฉลิมฉลองหมดไป ความกระตือรือร้นก็มักหดหายตาม แต่ไม่ใช่สำหรับ Sankalpa หรือหางเสือนำทาง เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากความอยากของเราที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่เราเป็นอยู่ แต่เป็นการเสริมกำลังในสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว ทั้งกำลังใจที่แข็งแกร่ง ผ่านการกระทำตามธรรมชาติ และปัญญาอันจะก่อเกิดให้เกิดการกระทำนั้น โดยไม่ต้องไปเสาะหากำลังใจที่ไหน พลังและกำลังใจอยู่ในเราอยู่แล้ว
จะค้นพบหางเสือสำหรับชีวิตของเราได้อย่างไร?
การตามหาหางเสือของเราคือ กระบวนการของเราในการฟัง ฟังความต้องการที่มีอยู่ในหัวใจ ที่มีอยู่แล้ว มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน รู้สึกให้แจ่มชัด ไม่ต้องอยากที่จะเป็นอะไร ไม่ต้องสร้างสิ่งใดที่เรายังไม่ได้เป็น ไม่ต้องมโนเอา แต่งเอา ใจของเรามันไม่ไปตามหาที่ไหนให้เราหรอก แต่การที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังรอเราอยู่อย่างลึกๆ ให้ฟังสิ่งที่ผุดขึ้นมา ที่กระซิบบอกเราอยู่ตลอดเวลา ว่านี่คือจุดหมายแห่งชีวิตของฉัน ถามตัวเองลงไปให้ลึก ว่าอะไรคือความหมายของสิ่งที่แอบบอกเราอยู่ทุกวัน
เป็นปกติที่เรามักจะบอกกับตัวเองในสิ่งที่เราต้องการว่า “ฉันจะ” หรือ “ฉันจะไม่” แต่จริงๆ แล้ว พอเราบอกกับตัวเองอย่างนี้ มันจะกลายเป็นว่า ไม่ได้มาจากก้นบึ้งของหัวใจจริงๆ ไม่ได้มาจากธรรมชาติของเราจริงๆ การตั้งหางเสือนำทาง ไม่ใช่การสวดอ้อนวอนร้องขอ แต่ต้องเป็นหางเสือที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง จากสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นจริงอยู่แล้ว ณ ในขณะนี้
และด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงทุกประการนี้เอง หางเสือของเรา ต้องเป็นทั้งสิ่งที่หัวใจของเราต้องการ และเป้าหมายที่เราต้องการจะมุ่งไป จากพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น แทนที่เราจะบอกกับตัวเองว่า “ฉันอยากเป็นคนที่เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น” ให้เราตั้งหางเสือของเราว่า “การเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือธรรมชาติของตัวฉัน” หรือ “ฉันนี่แหละ คือตัวแทน คือสัญลักษณ์ของการเข้าใจผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้”
หรือแทนที่จะบอกว่า “ฉันจะไม่กินเนื้อ” หางเสือของเราควรจะเป็น “เพื่อแสดงความเมตตาต่อร่างกายของฉันและสัตว์อื่นๆ ฉันจึงรับประทานมังสวิรัติ” เป็นวิธีการตั้งหางเสือของเรา บนพื้นฐานที่เราเป็นอยู่ ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่อยู่ภายใน ด้วยความจริง ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นที่บอกกับหัวใจของเราอยู่ตลอดเวลา เป็นการย้ำเตือนต่อตัวเราเองด้วยว่า สิ่งที่เราจะได้รับนั้น มีอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว
ปลูกเมล็ดพันธ์ ก่อหางเสือให้เติบโต
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการตั้งหางเสือ คือ จำให้ได้ โดยฝังลงไปในใจ หยั่งรากลงไปให้แกร่ง และเคารพต่อความต้องการจากหัวใจของเราเอง แค่พูดบอกกับตัวเองซ้ำๆ ย้ำๆ นั้น มันไม่พอ เพราะ เมื่อไหร่ที่เราบอกว่า เราต้องการอะไร จะเป็นการตอกย้ำให้แก่ตัวเราเองทันทีว่า เราไม่มี ยิ่งพูดย้ำ พูดซ้ำ ยิ่งเป็นการตอกเสาเข็มให้ลึกลงไปๆ อีกว่า เราไม่มี แล้วเมื่อจิตใต้สำนึกของเราต้องก่อร่างขึ้นจากความไม่มี ความขาดแคลน ความไม่พอ จะเอาพลังงานที่ไหนมาสร้างเล่า?
คุณภาพของจิตใจเป็นตัวกำหนดว่า หางเสือจะมุ่งไปถูกทิศทางหรือไม่ เพราะฉะนั้น การฝึกสมาธิจึงเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการกำหนดหางเสือ เพราะจะทำให้จิตใจอยู่ในขณะ “รู้” ณ ปัจจุบันขณะ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้พักโดยไม่ต้องพยายามที่จะ “พัก” หางเสือของเรายิ่งนำทางเรือของเราได้เร็วขึ้นเท่านั้น จิตใจจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะเสริมสร้างความตั้งใจ
สภาวะของจิตใจที่จะ “จำ” ได้ว่าหางเสือของเราจะมุ่งไปทางไหน ก็ต่อเมื่อ ใจของเราต้องมีประสบการณ์การเดินทางไปในทางนั้นก่อน หรือเปิดรับการบอกทาง โดยไม่ต้องกังวลว่าเมื่อไหร่จะไปถึง ไม่ต้องเค้นค้นว่าเส้นทางนั้นจะต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะกลายเป็น “ความอยาก” ของเราเองไปโดยทันที ใจของเราก็จะบอกตัวเองโดยทันทีเหมือนกันว่า ฉันไม่แน่ใจในทางที่จะต้องไปนี้เลย ใช่หรือ แน่หรือ ดีหรือ เราต้องมั่นใจว่า ทางที่เราจะไปนี้ ใช่ ถูกต้องที่สุด ไม่มีทางใดอีกแล้ว เป็นทางนี้ทางเดียว
หนึ่งวิธีในการฝึก เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของทางเดินให้หางเสือ กำหนดทางเดินให้หางเสือได้อย่างมั่นคง คือ การฝึกโยคะนิทรา เมื่อคำว่า นิทรา หมายถึง การนอนหลับ มันจึงเป็นการนอนหลับของภายนอก เพื่อให้ภายในได้ตื่นขึ้นมาแสดงธรรมชาติของตนเองได้อย่างแท้จริง โยคะนิทราเป็นการฝึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย และ นำทางให้เราได้ตระหนักรู้ในส่วนที่ลึกที่สุด “เรา” จะตื่น ตื่น และตื่น แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจะแตกต่างจากการรับรู้ของกายนอก และ การรับรู้ของใจ ในช่วงเวลาปกติ อย่างสิ้นเชิง เป็นการพักในความสงบ ปัญญาก่อเกิดแสดงตน และความรักในสิ่งที่เราเป็นอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้ว จะก่อร่าง
ในโยคะนิทรา เราจะค้นพบการเปิดของหัวใจในระดับลึก กรอบขีดจำกัดของเราจะถูกทลาย ความบริสุทธิ์ของตัวตนที่แท้จริงของเราจะค่อยๆ ถูกเปิดเผย ในขณะที่หากเราวางหางเสือของเราไว้ในขณะที่ยังตื่น ด้วยระดับของกายและใจภายนอก มันจึงกลับกลายเป็นแค่ระดับความอยาก ที่อีโก้ของเราเองเป็นคนป่าวประกาศมันขึ้นมา แต่เมื่อเราวางหางเสือไว้ในโยคะนิทรา ความต้องการจากหัวใจจริงๆ ของเราจะเป็นผู้กำหนดเส้นทาง กำหนดรู้ซึมซับรู้ไปทั้งตัวและหัวใจ เป็นทิศทางที่มั่นคง ทางเปิด และเป็นทางจริง
หางเสือของเรา คือ คนที่เราเป็นจริงๆ ทางที่เราจะก้าวเดินไปในโลกนี้ได้อย่างจริงๆ เมื่อเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “ตัวของเราเอง” อย่างสมบูรณ์แบบ ชีวิต ก็เป็นเพียงขั้นตอนของการเรียนรู้เพื่อที่จะกลับไปหาธรรมชาติของตัวเราให้ได้ ซึ่งเรามักจะ “หลงทาง”
เมื่อเราเริ่มต้นสตาร์ทเครื่องหางเสือหรือ sankalpa ของเรา เราจะเริ่มรู้แล้วว่า ทางไหนที่เราต้องการไปจริงๆ แต่การที่จะรู้ว่า นั่นเป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต่อเมื่อ เรามาตามทางนี้อยู่ก่อนแล้ว อยู่บนเส้นทางนี้อยู่แล้ว แต่คราวนี้ มีจุดหมายที่ชัดเจนขึ้น ว่าจะไปไหน จุดหมายอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะมีใครมากวักมือเรียกเราไปทางอื่น เราก็จะไม่ไป เราต้องรู้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว ทางนี้แหละเป็นทางเดียว ไม่มีทางอื่นอีก
ทุ่มเทกายใจทั้งหมดไปกับเส้นทางนี้ มั่นใจว่า หางเสือของเราจะนำเราล่องไปบนเส้นทางนี้ไม่มีผิดทาง ไม่ว่าเราจะไปถึงหรือไม่ จะช้าหรือจะเร็ว เดินทางให้สนุกบนเส้นทาง เพราะจุดหมายรอเราอยู่แล้ว อย่างไม่ต้องสงสัยเลย แม้สักนิดเดียว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
เขียนโดย เก๋ วรารักษ์ สู่โนนทอง
Email: wararuks@yahoo.com
Line ID: baimon210210
FB: เก๋ วรารักษ์ สู่โนนทอง
�tm���p[&F