เมื่อการฝึกโยคะไม่ใช่เป็นเพียงแต่การฝึกร่างกายแต่ยังเป็นการฝึกจิตใจ การฝึกโยคะแม่ท้องจึงเป็นการฝึกโยคะที่แตกต่างไปจากการฝึกโยคะในแบบอื่นๆ เพราะโยคะแม่ท้องฝึกให้เรารักตัวเองไปพร้อมๆ กับรักอีกหนึ่งชีวิตที่เราสร้างเค้าขึ้นมาด้วย
การฝึกโยคะที่พวกเรารู้จักกันทั่วๆ ไปนั้นมีหลากหลายสไตล์ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การฝึกร่างกายและจิตใจของผู้ฝึกเพราะในขณะที่สภาวะร่างกายเรานั้นมีเพียงหนึ่งเดียวการฝึกโยคะจึงมุ่งเน้นไปที่ตัวของผู้ฝึกเท่านั้น ครูหนิง ธิญาดา คอนเควสท์ ผู้ก่อตั้ง Enjoy Yoga Studio For Pregnancy ครูผู้สอนโยคะให้กับหญิงตั้งครรภ์ ขอนำเสนอโยคะในอีกมุมมองหนึ่ง ในมุมที่การฝึกโยคะไม่ได้เป็นการฝึกเพียงเพื่อตัวเองอีกต่อไป แต่เป็นการฝึกเพื่อเผื่อแผ่ไปยังอีกหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
ทำไมต้อง Prenatal YOGA (โยคะสำหรับแม่ท้อง)
โยคะแม่ท้องเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของแม่ท้อง เพราะการฝึกโยคะช่วยปรับสมดุลทางร่างกายของแม่ ได้แก่ ฮอร์โมน อารมณ์ ร่างกายและจิตใจ เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ทุกคนจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านในแต่ละไตรมาส เช่น
ไตรมาสที่ 1
อารมณ์เปลี่ยน ฮอร์โมนเปลี่ยน แม่มือใหม่มักมีความกังวลทางด้านจิตใจ ความกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวอนาคตที่กำลังจะมาถึง ส่วนทางร่างกาย แม่มือใหม่อาจจะรู้สึกปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว หน่วงๆ ตึงๆที่หน้าท้อง คล้ายคนมีประจำเดือน เต้านมเริ่มคัด เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงหงาวหาวนอน ไม่อยากจะทำอะไร บางคนถึงขั้นเครียดเพราะความไม่พร้อม หรือ ความเปลี่ยนแปลงทางหน้าที่การงาน หรือสังคมที่จะต้องตามมาภายหลังจากการตั้งครรภ์ด้วย
การฝึกโยคะ จึงดีสำหรับการปรับสภาพจิตใจที่กังวลให้มีความสงบมากขึ้นด้วยการฝึกกำหนดลมหายใจ ฝึกให้จิตใจจดจ่อกับปัจจุบัน ให้รู้จักยอมรับ และยินดีกับชีวิตน้อยๆ ที่กำลังจะเติบโตในร่างกายของเรา การฝึกโยคะช่วยให้แม่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมและสร้างทัศนคติที่เป็นบวก เมื่อแม่มีความพร้อมทางจิตใจแล้ว จึงมีความสุขกับสภาวะใดๆ ก็ตามที่ร่างกายจะต้องเผชิญในช่วงตลอดระยะเวลา 9 เดือน
ไตรมาสที่ 2 ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น อารมณ์เริ่มคงที่ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดีขึ้น ตื่นเต้นกับลูกน้อยในครรภ์และความเป็นคุณแม่มือใหม่ แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอาการปวดเมื่อย
การฝึกโยคะ ในช่วงนี้จึงเหมาะที่จะฝึกทั้งสมาธิ ทั้งความแข็งแรงให้กับร่างกายเพื่อเตรียมรับมือกับร่างกายและน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ ช่วยทำให้แม่มีความแข็งแรง ไม่ปวดเมื่อยง่าย มีความสุขกับการตั้งครรภ์และการเฝ้าดูพัฒนาการในครรภ์ของลูกน้อย
ไตรมาสที่ 3 ลูกน้อยตัวใหญ่ขึ้นไปพร้อมๆกับน้ำหนักที่พุ่งพรวดของแม่เมื่อใกล้คลอด แม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยไปทุกส่วน จนไม่อยากจะทำอะไร และกังวลใจกับการคลอดลูกน้อย....
การฝึกโยคะ ในช่วงนี้ มุ่งเน้นไปที่การฝึกสมาธิและสื่อสารกับลูกน้อยในครรภ์ผ่านอาสนะต่างๆ และการกำหนดลมหายใจไปที่ครรภ์และอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะช่วยให้แม่ผ่อนคลายความวิตกกังวล และ เตรียมตัว เตรียมใจให้มีความพร้อมในการคลอดบุตร
เมื่อแม่สุข ลูกสุขด้วย
การฝึกโยคะตลอดการตั้งครรภ์ เป็นการฝึกสติให้อยู่กับร่างกายและจิตใจของตนเอง และเพื่ออีกชีวิตหนึ่งที่อยู่ในร่างกายของเรา ลองคิดดูสิว่า ใน 24 ชม.ของเรา มีสิ่งรุมเร้าจิตใจเรามากมายแค่ไหน อะไรที่ทำให้มีอารมณ์ขุ่นมัวและก่อให้เกิดพลังงานที่เป็นด้านลบกับจิตใจ ซึ่งกายและจิตของแม่และลูกในครรภ์นั้นคล้องเกี่ยวผูกพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่วันแรกที่ลูกน้อยปฏิสนธิในครรภ์ของแม่ ดังนั้น หากเปรียบร่างกายและมดลูกของแม่ คือ บ้านแรกของลูกน้อย บ้านแรกของลูกคือบ้านสีขาวอันบริสุทธิ์ อารมณ์ขุ่นมัวคือสีที่จะแต่งแต้มพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของลูก การฝึกโยคะจึงช่วยชำระจิตใจของแม่ให้มีความสุขในทุกๆ วันที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ ให้ลูกได้รับแต่พลังงานที่ดีๆ และมีความสุขมากที่สุดในทุกๆ วันที่อยู่ในครรภ์มารดา
ฝึกเพื่อลูก ฝึกเพื่อเรา
เมื่อร่างกายของแม่คือบ้านแรกของลูก การฝึกโยคะในช่วงตั้งครรภ์จึงควรตระหนักถึงประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของแม่ และผลกระทบที่อาจเกิดกับลูกด้วย เพราะไม่ใช่ว่าโยคะทุกอาสนะจะเหมาะสมกับทุกคน และไม่ใช่ว่าจะเหมาะกับแม่ที่ตั้งท้อง การดูสื่อต่างๆ เพื่อพยายามทำท่าที่ดูน่าตื่นเต้นอาจไม่ได้”จำเป็น”ต่อการฝึกโยคะช่วงตั้งครรภ์ (นอกจากประโยชน์ทางด้านความสวยงาม) และอาจมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ฝึกได้
ฝึกอย่างพอดีและดีพอ
แม่ท้องควรฝึกโยคะด้วยความระมัดระวังและมีสติ ระลึกถึงความพอดี และประโยชน์ คำนึงถึงอาสนะต่างๆที่ควรหลีกเลี่ยง หรือ ควรฝึกด้วยความระมัดระวังในช่วงตั้งครรภ์ เช่น
- ท่าแอ่นหลังต่างๆ เพราะกระดูกสันหลังของแม่ท้องแอ่นตัวไปด้านหน้ามากอยู่แล้วในช่วงท้องจากมดลูกที่ขยายตัว จึงไม่ควรซ้ำเติมด้วยการแอ่นตัวมากไปอีก เพราะจะทำให้ปวดหลังได้ง่าย
- ท่ากลับบนกลับล่าง มักไม่แนะนำเลยหากผู้ฝึกไม่เคยฝึกมาก่อน เพราะการทรงตัวที่ยากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์และสรีระที่เปลี่ยนไป เช่น สะโพกขยายใหญ่ น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ข้อต่อมีความอ่อนนุ่ม กล้ามเนื้อเสียความแข็งแรง อีกทั้งระบบการหายใจและการไหลเวียนของเลือดที่มีความต้องการมากขึ้นกว่าปกติ แม่ท้องอาจมีความเสี่ยงที่จะหน้ามืด เวียนศรีษะ หรือเสียการทรงตัว ล้ม และเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- ท่าที่ต้องเกร็งแกนลำตัว เช่นท่าพาวเวอร์ต่างๆ หากไม่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อมาก่อน การพยายามฝึกท่ายากๆ อาจทำให้ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ มีความเครียด และร่างกายเกิดการบาดเจ็บโดยที่ไม่จำเป็น
โอบกอดลูกน้อยผ่านโยคะ
เมื่อการฝึกโยคะไม่ใช่เป็นเพียงแต่การฝึกร่างกาย แต่ยังเป็นการฝึกจิตใจให้รักตัวเองไปพร้อมๆ กับรักอีกหนึ่งชีวิตที่เราสร้างเค้าขึ้นมา การฝึกโยคะจึงมอบร่างกายและใจที่เป็นสุขให้แก่ทั้งแม่และลูกในครรภ์เสมือนเป็นการโอบกอด และมอบความรัก เพื่อขอบคุณช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดของชีวิต ที่ทำให้เราได้มีโอกาสอุ้มชูและให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ หนึ่งชีวิตมาสู่โลกใบนี้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
ผู้เขียน
ครูหนิง (ธิญาดา คอนเควสท์)
ผู้ก่อตั้ง Enjoy Yoga Studio
จบการศึกษาทางด้านโยคะทางด้านแม่ท้อง, หลังคลอด, และการคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ
จากประเทศออสเตรเลีย และ ขึ้นทะเบียนรับรองการเป็นครูสอนโยคะแม่ท้องจาก Yoga Alliance ประเทศสหรัฐอเมริกา
มีประสบการณ์สอนโยคะแม่ท้องมา 6 ปี และเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารและรายการทีวีต่างๆ ในไทย