หลักการ 3 ข้อของหยินโยคะ (Three Principles of Yin Yoga)

หลักการ 3 ข้อของหยินโยคะเป็นรากฐานเพื่อทำความเข้าใจปรัชญาการฝึกว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในร่างกายเรา แต่ละข้อช่วยให้เข้าใจว่าการทำงานของธรรมชาติที่ส่งผ่านสู่ร่างกาย "การหยั่งราก" (Grounding) ทำงานกับร่างกาย การค้าง (Holding) ทำงานกับลมหายใจ และการผ่อนคลาย (Relaxation) ทำงานกับจิตใจ หากเราใช้หลักการเหล่านี้ในการฝึกหยินโยคะ ณ จุดนี้และเวลานี้ ชีวิตจะเริ่มเปลี่ยนแปลง

 

1.หลักการหยั่งราก (Principle of Grounding)

ในธรรมชาติ สิ่งใดก็ตามที่ร่วงหล่นสู่ผืนดินจะเติบโตเต็มศักยภาพของตัวเองได้ในที่สุด เป็นความกรุณาของผืนโลกที่จะบำรุงและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหย่อนลงในดิน รอเวลาที่จะเติบโต ระหว่างที่รอจะเกิดช่วงว่าง สรรพสิ่งมีเวลาเป็นของตัวเองที่จะเติบโตและผันเปลี่ยนตามฤดูกาล

 

การหยั่งรากสำคัญยิ่งเพราะช่วยพาเรากลับ "บ้าน" เป็นรากฐานและโครงสร้างที่อุ้มชู หล่อเลี้ยงและยืดโยงชีวิตไว้ด้วยกัน ในโยคะสุตรา สิ่งนี้คืออาสนะ คือคุณสมบัติของ "ความมั่นคง"(sthiram) และ"ความสบาย" (sukhum) การหยั่งรากจึงเป็นการค้นหาวิธีประคับประคองตนผ่านการกลับสู่บ้านอย่างแท้จริง

 

ผืนฟ้าคือหยาง ผืนดินคือหยิน เราจำเป็นต้องเข้าใจความกรุณาของแม่ธรณี สรรพชีวิตได้รับโอกาสเติบโตโดยไม่ถูกกีดกัน เล่าจื้อกล่าวไว้ว่า "เพื่อเข้าสู่หนทางแห่งเต๋า คนเดินตามกฎแห่งผืนดิน ผืนดินเจริญรอยตามผืนฟ้า ผืนฟ้าเจริญรอยตามกฎแห่งเต๋า และเต๋าเจริญรอยตามกฎแห่งธรรมชาติ" กฎแห่งผืนดินคือคุณสมบัติแห่งความกรุณา เป็นที่ซึ่งสรรพสิ่งได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต สามารถอยู่ร่วมกัน ได้รับการทะนุบำรุง เติบโตและมีชีวิต ผืนดินจะเปิดกว้างต่อสรรพสิ่งด้วยความสงบมั่นคง

 

การหยั่งรากคือวิธีการที่เราเปิดเผยตัวตน เสมือนผืนโลก เราจะเปิดกว้างได้เมื่อเราหยั่งรากมั่นคง ในร่างกาย ท่อนล่างเป็นส่วนหนึ่งของผืนโลกและเป็นส่วนที่หยินโยคะร่ายมนต์ เพื่อพัฒนาคุณสมบัติของการหยั่งรากในชีวิต เราต้องฝึกลงไปที่เชิงกรานซึ่งเป็นหนึ่งในข้อต่อที่หนักและซับซ้อนที่สุดในร่างกาย ในขณะเดียวกันน้ำหนักของข้อต่อนี้ก็ช่วยให้ร่างกายสามารถยืดขยายได้อย่างมั่นคง การปรับแนวร่างกายเริ่มจากจุดนี้ จุดที่การเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้น เป็นขุมพลังสนับสนุนการเคลื่อนไหว ในหยินโยคะ เราฝึกด้วยทัศนคตินี้ เริ่มการเคลื่อนไหวโดยตั้งใจเพิ่มพื้นที่ว่างบริเวณเชิงกราน

 

2.หลักการค้างนาน (Principle of Holding)

การค้างนานเกี่ยวข้องกับความว่าง เหมือนภาชนะที่บรรจุความว่างไว้ภายใน เป็นความสามารถที่จะหยุดทุกสิ่งไว้ด้วยกันโดยอาศัยเวลา ปล่อยเวลาให้สิ่งต่างๆ ได้เกิดขึ้นและคลี่คลายด้วยตัวมันเอง เวลาเปรียบประหนึ่งลมหายใจในร่างกาย เป็นไฟซึ่งเผาไหม้สิ่งที่ขวางกั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเวลา เวลาเยียวยาทุกสิ่ง เมื่อเราปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเวลา เมื่อนั้นเราได้เปิดรับความว่างเข้าสู่ชีวิต

 

ผืนโลกเป็นที่กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ จึงสามารถให้ชีวิตได้ ผืนดินสะสมพลังงานนี้ไว้ยามเมื่อแสงแดดสาดส่อง ด้วยเหตุนี้หยินและหยางบนโลกใบนี้จึงสมดุลย์ เมื่อมีผู้ให้ ย่อมมีผู้รับ มิเช่นนั้นการให้ก็เปล่าประโยชน์ ไม่ต่างไปจากความสัมพันธ์กับคนรอบกาย

 

การค้างนานคือพลังแห่งการยินยอม หากปล่อยให้สิ่งทั้งดีและร้ายผ่านเข้ามาในชีวิตเหมือนหน้าต่างเครื่องบินผ่านมา แต่ไม่ส่งอิทธิพลนัก มันจะส่งผลกระทบต่อเรา เมื่อเราสร้างกำแพงล้อมรอบตัว ต่อต้านและผลักสิ่งที่ไม่ถูกใจออกไปรังแต่จะยิ่งทำให้เจ็บปวด เมื่อเรากลายเป็น "ภาชนะ" พร้อมรองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นโดยไม่โต้กลับ ด้วยวิถีนี้ เราสร้างพื้นที่ว่างให้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว เราจะให้อภัย เห็นอกเห็นใจ และรักได้มากขึ้น

 

การให้คือหยาง การรับคือหยิน ในความสัมพันธ์นี้ เราค้นหาความสมดุลจากการรับเข้ามาและรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ เราพัฒนาคุณสมบัติของความสมถะ หรือ”สันโดษ”(santosa) ในโยคะสุตรา เราหยุดไขว่คว้าจากภายนอก แต่กลับสู่ "บ้านภายใน"

 

เราพัฒนาคุณสมบัตินี้ได้ผ่านห้วงเวลา ในหยินโยคะ การค้างนานหมายถึงการประคับประคองอยู่ในอาสนะผ่านห้วงเวลาหนึ่ง ให้เวลาได้คลี่คลายข้อจำกัดในร่างกาย เป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างและเปลี่ยนแปลงร่างกาย เรายังปล่อยให้ความรู้สึกต่างๆ บังเกิดขึ้นและผ่านเข้าสู่ร่างกายเหมือนหน้าต่าง ให้ทุกอย่างผ่านเข้ามาและปล่อยให้ผ่านออกไปได้

 

 3.หลักการผ่อนคลาย (Principle of Relaxation)

ในการเพาะปลูก ต้องเตรียมดินก่อนหว่านเมล็ดพันธ์ ดินต้องนิ่ม เมล็ดพันธุ์จึงจะจมลงไปได้ สะท้อนถึงหลักการผ่อนคลาย

 

การผ่อนคลายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเกียจคร้าน การผ่อนคลายคือการเอาใจใส่เพาะบ่มนิสัยแห่งความนุ่มนวลในร่างกาย คำพูดและจิตอยู่ตลอดเวลา เป็นบททดสอบยามที่เราเผชิญสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ เราสามารถผ่อนคลายร่างกาย คำพูดและจิตในขณะที่เผชิญความยากลำบากได้หรือไม่

 

ความผ่อนคลายคือกุญแจในทุกอาสนะ หรือ "sukhum" ในโยคะสุตรา เป็นคุณสมบัติสำคัญอันควรน้อมนำสู่ร่างกาย เป็นความสามารถที่จะคงความผ่อนคลายไว้ได้ในขณะที่ผ่านความท้าทายทางกายอย่างถึงที่สุด นี่คือประโยชน์ของการฝึกอาสนะ เราฝึกฝนร่างกายเพื่อปลดปล่อยความตึงเครียด เพื่อเสริมสร้างและคงไว้ซึ่งพื้นที่ว่างในร่างกายอย่างต่อเนื่อง

 

เราจำเป็นต้องพัฒนาการสื่อสารและทักษะการใช้ภาษาที่ช่วยยกระดับจิต การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของลมปราณ (Qi) หรือพลังงานในร่างกาย เราต้องสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนรอบตัวเบิกบาน การสื่อสารเชิงบวกนำมาซึ่งความผ่อนคลายในร่างกาย ลมปราณและจิต

 

เราต้องการให้จิตผ่อนคลายด้วยเช่นกัน ไม่ใช่หลีกเลี่ยงความตึงเครียด แต่พัฒนาทักษะในการรับมือความตึงเครียด อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเริ่มฝึกจิตให้ผ่อนคลายอยู่ตลอด เราสามารถรับความท้าทายและลุล่วงผ่านไปได้โดยไม่รู้สึกตึงเครียด

 

การพัฒนาคุณสมบัตินี้ การฝึกหยินโยคะต้องการความนุ่มนวล ร้องขอให้กล้ามเนื้อภายนอกผ่อนคลาย ไม่บีบรัด ค้างอาสนะโดยใช้แรงน้อยที่สุด ถ้าเราสามารถทำสิ่งต่างๆ โดยใช้แรงให้น้อยที่สุดอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขัดขืน ดื้อดึง จะเกิดพื้นที่ว่างให้เราลึกลงไป สิ่งนี้คือพลังของการผ่อนคลาย

 

การผ่อนคลายส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแผ่นพังผืดในร่างกาย หยินโยคะเน้นเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ หมายความว่า โดยวิธีการใช้กล้ามเนื้อเพียงน้อย แต่ใช้สอยพังผืดกล้ามเนื้อพิเศษ และพังผืดในระดับกล้ามเนื้อชั้นในซึ่งอยู่รอบๆ กล้ามเนื้อแทน จัดวางแนวของร่างกายโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง คือกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนรูปพังผืด อาศัยเทคนิคการยืดเหยียดที่ช้าและนานแทนที่การยืดเหยียดแบบเคลื่อนไหว

 

หลักการทั้ง 3 ข้อนี้มีพื้นฐานปรัชญาจีนโบราณอันลึกซึ้งรองรับ เป็นการฝึกฝนที่ยิ่งไปกว่าการฝึกฝนทางกาย ถ้าสามารถนำหลักการของหยินไปใช้ในชีวิต จะช่วยพัฒนาคุณสมบัติมากมายอันนำไปสูชีวิตอันเบิกบานเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ในดิน รอเวลาที่จะเติบโต เมื่อเราเริ่มฝึกหยินโยคะ เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเผยออกมา

 

เกี่ยวกับผู้เขียน - Victor Chng

วิคเตอร์สอนหยินโยคะตั้งแต่ปี 2005 เป็นคนแรกที่สอนหลักสูตรครูหยินโยคะทั่วเอเชียและพัฒนาความเข้าใจหยินโยคะจากพื้นฐานปรัชญาจีนและแพทย์แผนจีนโบราณอย่างต่อเนื่อง วิคเตอร์พัฒนาการฝึกหยินโยคะตามหลักเส้นลมปราณในร่างกายเพื่อให้พลังงานสามารถไหลเวียนได้อย่างอิสระ วิธีการคือเสริมสร้างการเยียวยาด้วยวิถีธรรมชาติซึ่งร่างกายพร้อมจะตอบสนอง แม้ไม่มีพื้นฐานทางการแพทย์ แต่สามารถสอนเกี่ยวกับแพทย์แผนจีนได้อย่างกระจ่างชัด วิคเตอร์เดินทางสอนหยินโยคะทั้งในเอเชียและยุโรป


ได้รับอนุญาตให้ถอดความเป็นภาษาไทยจาก Victor Chng

ถอดความและเรียบเรียงโดย : พรรณสิริ จิตรรัตน์ (ครูอ้อม หยินโยคะ)

www.facebook.com/yinyogathailand

Email: cpansiri@yahoo.com, yinyogathailand@gmail.com

Line ID: aom_yinyoga

 

ติดตามตารางสอนของวิคเตอร์ได้ที่

www.yinyogainasia.com

www.facebook.com/yinyogainasia

www.facebook.com/yogainasia

Email:info@yogainasia.com

latest articles

เข้าสู่ระบบ Asiawellness.com