YJ Yoga for Old Age โยคะสำหรับผู้สูงวัย

บทความนี้ ครูแซมจะมาแบ่งปันประสบการณ์การสอนโยคะผู้สูงวัย คำว่า "ผู้สูงวัย" สำหรับครูแซมจะขอแยก คำจำกัดความเป็นสองกลุ่มด้วยกันนะคะ

ในแบบแรก สูงวัยด้วยประสบการณ์ชีวิต มุมมองทัศนะจากคนรอบข้างในทางบวก ลูกหลานให้ความเคารพและอยู่ใกล้ชิด ผู้สูงอายุหรือกลุ่มสูงวัยกลุ่มนี้ มีมาตรฐานชีวิตที่ดี ได้รับความเอาใส่ใจจากบุตรหลาน ดูแลตนเองดีเป็นประจำสม่ำเสมอ ไปไหนไปกัน สนุกสนาน มีคุณแม่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ไปด้วย ชอบแต่งตัว โยกย้ายร่างกายยังกับวัยสะรุ่น สุขภาพจิต กาย และ ใจ ดีหมด อยู่กับลูกหลานยันวัย 90 กันเลยทีเดียวเชียว

ส่วนผู้สูงวัยกลุ่มที่สอง เป็นผู้สูงวัยด้วยความชราภาพ ครูแซมเองได้มีโอกาสไปสัมผัส พูดคุย ไปสอนเป็นจิตอาสาโยคะบำบัดให้กับผู้สูงวัยกลุ่มนี้ บางท่านอาจจะได้รับความใส่ใจและสนใจจากลูกหลานน้อยลง เพราะคนในครอบครัวมีภารกิจที่จะต้องทำมาหากิน บางท่านก็ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองจนลืมนึกถึงสุขภาพ บางท่านถึงเป็นวัยเกษียนแล้ว แต่ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ สุขภาพจึงถดถอยตามกาลเวลา

การสอนโยคะบำบัดให้กับผู้สูงวัยของครูแซม มีตั้งแต่อายุ 50 -85 ปี และไม่ใช่แค่บำบัดร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ให้การสัมผัส ใส่ใจ ซักถามสารทุกข์สุขดิบก่อนการฝึก เพื่อคลายความกังวลของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ แน่นอนค่ะ คำว่า “ผู้สูงวัย” ใครๆ ก็หนีไม่พ้น และยังคงจะต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้ เช่น สายตาพร่ามัว กล้ามเนื้อไม่เหลือให้เห็น ระบบการขับถ่ายบกพร่อง หายใจแบบเหนื่อยๆ ปวดเมื่อยร่างกายยามตื่นนอน ความดันมา น้ำตาลถามหา ผิวหนังคล้อย ไม่สดใส ภูมิคุ้มกันลดลง ข้อเข่าเริ่มเสื่อม ข้อต่อเริ่มทรุด สะโพกเริ่มเสื่อม ผมขาวขึ้น และอีกหลายๆ อาการ ดังนั้นครูแซมจึงอยากจะขอแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโยคะของผู้สูอายุ เพื่อให้เราช่วยกันดูแลคนในครอบครัว หรือเตรียมตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ และถ้าหากมีประโยชน์ ก็ช่วยบอกต่อกับผู้คนที่เรารู้จักกันด้วยนะคะ

ประโยชน์และข้อควรระวังของโยคะผู้สูงวัย

1. โยคะเป็นหนึ่งในวิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัยที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยสุด โดยครูผู้สอนจะต้องมีประสบการณ์ และเข้าใจร่างกาย กล้ามเนื้อ ไม่สอนในท่าที่ยาก ระมัดระวังที่สุด และค่อยเป็นค่อยไปในการฝึก
2. เป็นกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงวัย เพราะถึงแม้จะอายุมาก แต่ก็ยังสามารถทำท่าต่างๆ ได้ และชื่นชมเพื่อให้เกิดกำลังใจที่จะก้าวหน้าต่อไป

3. เป็น Natural Therapy จากภายใน! ในที่นี้ครูแซมหมายถึง การพูดคุยกัน ซักถาม ยิ้มแย้มแจ่มใส จะช่วยคลายความกังวล เพื่อลดอาการเกร็ง เพราะผู้สูงวัยที่มีปัญหาร่างกายมาก่อน ท่านเหล่านี้จะเกิดความกลัว กลัวเจ็บ กลัวอาการปวดเมื่อย กลัวจุดนั้นมีปัญหามากขึ้น การสร้างความเป็นกันเอง ใส่ใจ และเข้าใจ จะช่วยในการบำบัดด้วย (ที่สำคัญ
ครูผู้ฝึกสอนควรระมัดระวัง ให้ผู้ฝึกลองยืดเหยียดสักนิดนึง แล้วคอยจับ คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ด้วยนะคะ)          
4. การหายใจระหว่างการฝึกเป็นสิ่งที่ยาก และ“งง” สำหรับผู้ฝึก เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย บางท่านจะกลั้นลมหายใจ เพื่อที่จะพยายามทำให้ได้
5. เราควรจะต้องมีอุปกรณ์ (Props) ในการฝึกที่เหมาะสม เช่น ผู้สูงอายุจะไม่สามารถลงเข่า คุกเข่าได้ เราต้องให้นั่งเก้าอี้ หรือ มียางยืดช่วยฝึก สร้างแรงและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
6. ไม่ควรให้อยู่ในท่าหรือค้างท่านานๆ ในแต่ละท่า
7. เน้นท่ายืดและเหยียดให้ตรงจุด (ระวังในส่วนของ ข้อต่อสะโพก เข่า หลังล่าง)
8. ไม่ควรอวด หรือแสดงท่วงท่า หรือแข่งขันกันเองในการฝึก
9. Adjustment การจัดท่าให้กับผู้สูงวัย จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก
 

สุดท้ายนี้ครูแซมขอกล่าวทิ้งท้ายไว้สักนิดนะคะ เรื่องสุขภาพ ขอให้ผู้สูงวัยใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองโดยเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ และขอให้บุตรหลานช่วยกันดูแลคนสูงวัยใกล้ตัวด้วยนะคะ

 

เรื่อง : ครูแซม (Samsara Yoga Shala)

Samsara Yoga Shala

Facebook : SAMSARA YOGA

Tel. 06-1921-9777

�8����'"

latest articles

เข้าสู่ระบบ Asiawellness.com