The hidden secret of the 5 bodies

The hidden secret of the 5 bodies
โดย ครูเล็ก ศิริรัชต์ กิตติคุณาดุลย์
Facebook: Lek Kittikunadul
www.innerlifeyogabylek.com


  สมัยที่เรียนหลักสูตรครูโยคะที่อินเดีย มีการเรียนปรัชญา Verdanta ซึ่งเรื่องที่พูดถึงบ่อยที่สุดก็คือ อะไรคือความจริง อะไรคือภาพลวงตา โดยทั่วไป คนเราจะเชื่อในสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ รูป รส กลิ่นเสียง และ สัมผัส และเราเชื่อว่าสิ่งที่เห็น หรือสัมผัสด้วยสัมผัสทั้งห้านั้น เป็นสิ่งจริงแท้ แต่เราแน่ใจหรือว่าสิ่งที่เราเห็น เราสัมผัสได้ จะเป็นจริงตามนั้นเสมอ

  ร่างกายที่เราเห็นเป็นเนื้อหนังมังสานั้น แท้จริงแล้วประกอบด้วยมิติ และความซับซ้อนเกินกว่าที่เราเข้าใจ เราอาจรับรู้ร่างกายตามที่เราเห็น และรู้สึก แต่ร่างกายเรามีกายหลายๆกายซ้อนกันอยู่เปรียบเหมือนกับหอมหัวใหญ่ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ชันที่อยู่นอกสุดเป็นกายหยาบ เรียงลำดับกันจนไปถึงชั้นที่อยู่ในสุด คือดวงจิตบริสุทธิ์ หรือที่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า Atman

  กายระดับแรกเป็นกายหยาบที่สุด เรียกว่า Annamaya Kosha หรือร่างกายหยาบ เป็นกายเนื้อหนังมังสา(Physical Body) ที่สามารถเห็นและสัมผัสได้ นับตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงระดับอวัยวะและเนี้อเยื้อต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นจากอาหารที่้เรากิน น้ำที่เราดื่ม ประกอบขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์ในแบบที่เรารู้จัก ดังนั้น คุณภาพของอาหารและน้ำ ที่เรารับเข้าไปในร่างกายจึงมีผลต่อคุณภาพของกายหยาบ เหมือนดังคำกล่าวว่า “You are what you eat” กายหยาบจะทำหน้าที่เสมือนเป็นพาหนะให้กับดวงจิตของเรา เพื่อเรียนรู้และหาประสบการณ์ชีวิตในโลกแห่งสสารนี้ เมื่อเราถึงเวลาต้องละจากร่างนี้ ธาตุทั้งสี่ที่ประกอบขึ้นเป็นกายนี้ ก็จะสลายคืนกลับไปสู่ปฐพีอีกครั้ง

  กายระดับที่ 2 ถือว่าเป็นกายพลังงาน (Energatic Body) มีหน้าที่สื่อสารระหว่างกายหยาบกับกายทิพย์ ทำหน้าที่ควบคุม การทำงานของกายหยาบ และ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต เป็นกายแห่งความรู้สึก อารมณ์ และความนึกคิด ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน โดยเชื่อมโยงผ่านอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 (Organs of Knowledge) ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ซึ่งเราใช้ในการเรียนรู้โลกแห่งสสาร กายแห่งจิตนี้ประกอบด้วย 3 กายระดับ คือ

  กายแห่งปราณ (Pranamaya Kosha) เป็นกายที่หล่อเลี้ยงด้วยลมหายใจ และพลังงานชีวิต หรือ พลังงาน Qi กายแห่งปราณนี้ทำหน้าที่ควบคุม การทำงานของระบบเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงาน สอดคล้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้กลไกการทำงานของร่างกายเป็นปกติ เมื่อร่างกายดับสูญไป กายแห่งลมปราณนี้จะดับสูญไปด้วย

  กายแห่งมโน (Manomaya Kosha) เกิดจากพลังงานความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ กายนี้ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก่อนจะแปรเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นความรู้สึก (sensation) จากนั้นจิตใต้สำนึกของเราจะตอบสนองต่อความรู้สึกนั้น กลายเป็นอารมณ์ทั้งดีและร้ายตามความเชื่อที่เราสั่งสมมาจากประสบการณ์ในอดีต กายแห่งมโนทำให้เราผูกติดอยู่กับวัฏสงสาร ผูกติดอยู่กับความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ เมื่อใดที่ร่างกายสูญสลายกายนี้ก็จะสูญสลายตามไปด้วย

  กายแห่งความคิด(Vijnanamaya KoshaหรือIntellect ) เป็นกายแห่งความคิดที่ตอบสนองจากความรู้สึกและอารมณ์ของกายแห่งมโน เป็นแหล่งรวมความเชื่อต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน กายนี้จะเป็นตัวกำหนดเรื่องราว และมุมมองชีวิต ตามความเชื่อและประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ให้มีผลต่อการตอบสนองในปัจจุบันแตกต่างกันออกไป หรือเรียกได้ว่า เมื่อความรู้สึกจากประสาทสัมผัสทั้ง5 มาบวกรวมกับประสบการณ์ในอดีต 7 จะก่อให้เกิดการตอบสนองสิ่งเร้ากลายเป็นความชอบ หรือไม่ชอบ สิ่งใดทำให้เรามีความสุข เราก็จะพอใจ ร่างกายผ่อนคลาย แต่หากสิ่งใดทำให้เรากดดัน เครียด กลัว สัญญาณนี้จะส่งไปให้ร่างกายตอบสนองด้วยการเกร็ง กล้ามเนื้อหดตัว เพื่อป้องกันความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสิ่งเร้านั้น เมื่อร่างกายตายไป กายนี้จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตในชาติภพนี้ไปกับดวงจิตด้วย กายนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นกายแห่งจิตใต้สำนึก เพราะเก็บและบันทึกประสบการณ์ต่างๆไว้ เพื่อที่ดวงจิตจะได้พัฒนาต่อไป

  กายระดับในสุด เรียกว่า Anandamaya Koshaหรือกายแห่งดวงจิตบริสุทธ์ เป็นฐานของปัญญา ศูนย์รวมองค์ความรู้แห่งสัจธรรม เป็นพลังอันบริสุทธิ์ให้กับกายทั้งหมด กายนี้ถือเป็นเม็ดพันธุ์แห่งอัตตา หรือ Atman เป็นกายต้นกำเนิดของทุกๆกายที่กล่าวมาเบื้องต้น   คำว่า Ananda หมายถึง ความสงบ(Blissful) คือ ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ต้องการสิ่งเร้าจากภายนอก เป็นกายที่เป็นปิติอยู่ในตัว ถ้าจะเปรียบเทียบคงเหมือนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติและสังสมบารมีมานานจนสามารถเป็นอิสระจากพันธนาการของความรู้สึก อารมณ์ ความคิด การยึดติดต่อโลกที่เป็นสสารได้ ด้วยการไปอยู่ในภาวะที่เรียกว่า สมาธิ   เราทุกคนสามารถมีประสบการณ์ของกายนี้ได้ เช่น ในเวลาที่เราหลับลึก ร่างกายไม่มีความฝัน ไม่มีความรู้สึกหรือรับรู้สิ่งเร้าจากภายนอก     กายแห่งดวงจิตบริสุทธ์เป็นกายละเอียดที่สุดในกายทั้งห้า เมื่อร่างกายเราตายไป กายนี้จะไม่สูญสลายไปกับร่างกายด้วย แต่จะยังคงอยู่ต่อไปจนว่าจะละอัตตาได้ ในทางพุทธศาสนา ไม่ได้ถือว่า Anandamaya Kosha เป็นที่สุด เพราะเมื่อใดที่เรายังมีกายนี้ เราย่อมมีตัวตน มีอัตตา แต่หากเราละจากกายนี้ได้เมื่อใด เราย่อมเข้าสู่นิพานได้ในที่สุด

  ส่วนตัวผมเห็นว่า กายแต่ละกายไม่ได้ซ้อนกันเป็นชั้นๆเหมือนชั้นของหัวหอม แต่จะสั่นสะเทือนในระดับที่ต่างกันหลายมิติ อุปมาเหมือนการหยดหมึกลงไปในทะเล หมึกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเล และทะเลจะไม่เหลือหยดหมึกอีกต่อไป เพราะได้เจือปนไปกับน้ำทะเลหมดแล้ว กายแต่ละชั้นมีความหยาบและละเอียดในระดับการสั่นสะเทือน(vibration)ที่ต่างกัน   เมื่อจิตของเราสั่นสะเทือนในระดับกายหยาบ เราจะได้รับประสบการณ์ในระดับกายหยาบ แต่เมื่อใดที่เราหยุดนิ่ง หลับตาลง เราจะเริ่มเห็นถึงลมหายใจ เห็นการเคลื่อนที่ของพลังงาน การไหลเวียนของพลังงานชีวิตภายในร่างกาย เมื่อจิตเราเริ่มสงบเข้าที่ เราสามารถรู้สึกถึงสิ่งที่มากระทบกับประสาทสัมผัสทั้งห้า เห็นความละเอียดของสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบมากขึ้น เมื่อจิตเป็นสมาธิมากขึ้น เราจะเริ่มเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงความคิดอ่านต่างๆ จนจิต สามารถละจากการกระทำ ความรู้สึก อารมณ์ และความคิดได้ การทำสมาธิจึงเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าไปสู่กายที่ลึกที่สุดได้

  ในชีวิตประจำวันนั้น เมื่อเราขยับเขยื้อนร่างกาย จิตจะอยู่ที่กายหยาย แต่เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 5 จิตส่งข้อมูลไปให้กายถัดไปคือ Pranamaya Kosha และ Manomaya Kosha หรือกายแห่งความรู้สึก จากนั้นจิตจะอยู่ที่กายแห่งความคิดว่าจะ ตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นอย่างไร จิตจึงวิ่งวนไปในมิติต่างๆในร่างกายตลอดเวลา

  จิตนั้นมีพลังอำนาจมหาศาล เป็นผู้สร้างร่างกาย เป็นผู้สั่งการให้อวัยวะต่างๆทำงานสอดคล้อง สามารถสั่งให้ร่างกายเจ็บป่วย หรือแม้แต่การรักษาตัวเองได้อีกด้วย นอกจากนี้ จิตยังส่งอิทธิพลหรือพลังงานออกไปสร้างโลก (Reality) ให้เป็นไปตามความเชื่อของเราได้อีกด้วย

  คราวหน้าเราจะมาพูดกันในเรื่องของจิต กับระบบเนื้อเยื่อในร่างกาย และความเป็นไปของชีวิต คอยติดตามฉบับหน้านะครับ

latest articles

เข้าสู่ระบบ Asiawellness.com