เมืองไทยมีผักชีหลายชนิดที่ใช้ในการทำอาหาร เช่น ผักชีหอม ผักชีล้อม ผักชีลา ผักชีลาว และ ผักชีฝรั่ง แต่วันนี้เราจะพูดถึง “ผักชี” ที่หมายถึงผักชีไทย ผักชีหอม ผักหอมน้อย(อีสาน) ผักหอมป้อม ผักหอมผอม(เหนือ) หรือ Coriander ในภาษาอังกฤษ ในเมืองไทยเรานำผักชีมาใช้ปรุงอาหารทุกส่วนเลย ได้แก่ ใบผักชีเอาไว้โรยหน้าอาหารให้มีกลิ่นหอมและดูสวยงามน่ารับประทาน รากผักชีใช้เป็นเครื่องเทศหมักเนื้อสัตว์เพื่อดับกลิ่นคาว ใช้ใส่ลงในซุปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องแกงต่างๆ ส่วนเมล็ดผักชีหรือลูกผักชีใช้เป็นเครื่องเทศในการหมักเนื้อสัตว์ หรือคั่วให้หอมใส่เครื่องแกง โดยสรุปเพราะคุณประโยชน์ของกลิ่นหอมนี่เอง ผักชีจึงได้ประดับอยู่ในจานอาหารเกือบทุกจานของเมนูไทย (คนทำอาหารจะต้องมีติดบ้านไว้ ขาดไม่ได้ใช่ไหมคะ)
ผักชีเป็นพืชล้มลุก มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปลูกมาแถบทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศอินเดียและโมร็อกโค สำหรับประเทศไทยปลูกมากที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ ผักชีเป็นผักที่สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงที่เหมาะที่สุดคือฤดูหนาว เพราะจะทำให้โตเร็ว ผักชีถูกใช้เป็นยาและเครื่องเทศมาหลายพันปี โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่ใบ ลำต้น ราก และเมล็ด
สรรพคุณของผักชีตามตำราการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า
· ทั้งต้น - ขับเหงื่อ ขับพิษเหือดหัด สุกใส ดำแดง ขับลม เจริญอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับเสมหะ ดับกลิ่นคาวปลาคาวเนื้อ รมแก้ดากออก พอกทาแก้ผื่นคัน ไฟลามทุ่ง แก้ปวดศีรษะ แก้ไอ แก้หวัด แก้อาหารเป็นพิษ แก้สะอึก
· ลูก - แก้พิษตานซาง แก้กระหายน้ำ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับลมในลำไส้ แก้สะอึก แก้ตาเจ็บ แก้ลมวิงเวียน ต้มรมกระทุ้งพิษเหือดหัด สุกใส ดำแดง บำรุงกระเพาะอาหาร แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด เจริญอาหาร คั่วบดผสมสุรารับประทาน แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้ปวดฟัน แก้เจ็บในปากคอ
· ราก - เป็นกระสายยา กระทุ้งพิษไข้หัว เหือดหัด สุกใส ดำแดง
ตำรับยาไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ลูกผักชีมาผสมเข้ายา ส่วนต้น ใบ ราก นำไปทำเป็นอาหารสุขภาพซะมากกว่า
นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า ผักชีโดยเฉพาะเมล็ดมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารไลนาโลออล (Linalool) เป็นส่วนมาก มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรียและเชื้อรา อาจช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ มีฤทธิ์กระตุ้นต่อมกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ขับน้ำดีและน้ำย่อยออกมามากขึ้น และยังมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ เช่น เชื้อจุลินทรีย์ ลดน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของลดน้ำตาลและยาลดความดันด้วย
วิธีการใช้ผักชีเป็นยาอย่างง่ายๆ
· รักษาโรคริดสีดวงทวาร บดลูกผักชีสดให้แตก ผสมเหล้าดื่มวันละ 3-5 ครั้ง หรือใช้ต้นสด 120 กรัม ใส่นม 2 แก้ว ผสมน้ำตาล ดื่ม
· แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด ใช้ลูก 1 ถ้วยชา ตำละเอียด ผสมน้ำตาลทรายและน้ำ ดื่ม
· แก้ท้องอืดเฟ้อ ใช้ลูกประมาน 2 ช้อนชาต้มน้ำ ดื่ม
· แก้ผื่นแดงไฟลามทุ่ง หรือเร่งผื่นหัดให้ออกเร็วขึ้น หั่นต้นสดให้เป็นฝอย ใส่เหล้า ต้มให้เดือด แล้วนำมาทาบริเวณแผล
· แก้ปวดฟัน รักษาแผลในปาก ต้มลูกในน้ำเดือด เคี่ยวจนงวด แล้วใช้น้ำอมบ้วนปาก
· แก้หัดหรือผื่น ต้นแห้งประมาณ 10-15 กรัม หรือต้นสด 60-150 กรัม ต้มกับน้ำ แล้วคั้นเฉพาะน้ำมาดื่มแก้อาการ นอกจากนี้ยังใช้ภายนอกได้ เช่น ใช้อาบ หรือใช้ชะล้างแผล หรือนำต้นสดตำพอกได้เลย คนโบราณนิยมใช้มากกรณีเด็กเป็นโรคอีสุกอีใส เราจะใช้รากผักชีต้มกับน้ำเป็นกระสายยา นำน้ำมาผสมกับยาเขียว ส่วนหนึ่งให้เด็กรับประทานเพื่อกระทุ้งพิษไข้และเม็ดผื่น อีกส่วนหนึ่งนำมาทาผิวภายนอกเพื่อสมานแผล นอกจากนี้เรายังใช้น้ำต้มรากผักชีอาบน้ำให้เด็กด้วย
· แก้โรคตา สำหรับอาการระคายเคืองตา หรือมองไม่ชัด แพทย์อินเดีย ให้นำลูกผักชี 4-6 ลูก มาแช่ในน้ำสะอาดที่ใส่น้ำเต็มแก้ว ทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้ากรองเอาผลผักชีออก นำน้ำที่ได้ล้างตา ทำทุกวันจะช่วยแก้อาการได้
· โรยแผล ใช้ลูกผักชีที่บดผงโรยแผล ฝีหนองได้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
รู้สักนิดเกี่ยวกับผักชี
· การทำความสะอาด: ก่อนจะนำต้นผักชีมาใช้ปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาด เพราะมีขี้ดินและสิ่งสกปรกติดอยู่มาก โดยเฉพาะบริเวณโคนราก โดยให้แช่น้ำแล้ว เด็ดก้านใบออกมาล้างทีละก้าน ส่วนตรงรากให้ใช้มีดขูดผิวนอกออกเบา ๆ
· การเก็บรักษา: ผักชีเป็นผักที่เหี่ยวง่าย วิธีเก็บรักษาให้สดนาน คือให้ล้างจนสะอาด รอให้สะเด็ดน้ำ แล้วห่อด้วยกระดาษหรือผ้าขาวบาง ใส่ถุงหรือกล่องพลาสติก แล้วนำไปแช่ตู้เย็น
· ข้อควรระวัง: สำหรับคนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี (Apiaceae) หรือ แพ้คื่นช่าย ยี่หร่า เทียนข้าวเปลือก เทียนสัตตบุษย์ กระเทียม และหอมใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชี เพราะผักชีอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น เป็นผื่นแพ้ ทำให้ผิวไวต่อแสงแดด เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง เยื่อบุจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ รวมไปถึงอาการหลอดลมเกร็งตัวได้ นอกจากนี้ผักชีเป็นผักที่มีกลิ่นฉุน จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น หรืออาจทำให้เกิดอาการตาลาย ลืมง่ายขึ้นด้วย
คุณค่าทางโภชนาการ
ใบผักชี 100 กรัม มี คาร์โบไฮเดรต 3.67 ก. น้ำตาล 0.87 ก. เส้นใย 2.8 ก. ไขมัน 0.52 ก. โปรตีน 2.13 ก. วิตามินเอ 337 มค.ก. เบต้าแคโรทีน 3,930 มค.ก. ลูทีนและซีแซนทีน 865 มค.ก. วิตามินบี1 0.067 มก. วิตามินบี2 0.162 มก. วิตามินบี3 1.114 มก. วิตามินบี5 0.57 มก. วิตามินบี6 0.149 มก. วิตามินบี9(โฟเลต) 62 มค.ก. วิตามินซี 27 มก. วิตามินอี 2.5 มก.วิตามินเค 310 มค.ก. แคลเซียม 67 มก. เหล็ก 1.77 มก. แมกนีเซียม 26 มก. แมงกานีส 0.426 มก. ฟอสฟอรัส 48 มก.โพแทสเซียม 521 มก. โซเดียม 46 มก. สังกะสี 0.5 มก.
อ้างอิง
· หนังสือ ย่อเภสัชกรรมไทยและสรรพคุณสมุนไพร โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช
· หนังสือ 101 ยอดสมุนไพรเป็นยา โดย สรกมล ถมยาจิตรเจริญ
· บทความออนไลน์ โดย ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ จากเว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน https://www.doctor.or.th/article/detail/6139
https://th.wikipedia.org/wiki/ผักชี 9