หลายคนมักสงสัยว่าร่างกายจะเป็นอย่างไรเมื่อฝึกหยิน และแตกต่างอย่างไรกับการฝึกโยคะในรูปแบบ
สำหรับบางคน การอยู่นิ่งๆ ขณะฝึกหยินยากลำบากกว่าการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องแบบวินยาสะ เพราะจิตสามารถล่องลอยไปไกลขณะที่ร่างกายไม่เคลื่อนที่ ดังนั้นการจดจ่ออยู่กับรูปทรงในอาสนะและลมหายใจจะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้
ร่างกายและลมหายใจพึ่งพาและทำงานร่วมกัน ขณะที่เราอยู่ในอาสนะ ร่างกายพยายามสื่อสารและเชื่อมโยงกับลมหายใจ ขณะเดียวกัน ลมหายใจเองก็พยายามช่วยให้เราประคองร่างกายไว้ในอาสนะได้ เมื่อร่างกายและลมหายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การค้างอยู่ในอาสนะจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนภายในแม้อยู่ในอาสนะที่พับข้อต่อ แต่การไหลเวียนไม่ติดขัดเพราะในร่างกายมีช่องว่างมากพอ
ลมหายใจเข้าลึกได้แค่ไหน?
เราสามารถหายใจเข้าไปในกระดูกได้หรือไม่?
ขณะค้างท่าในคลาสหยิน ฉันมักเตือนให้นักเรียนหายใจเข้าไปในแผ่นหลัง แต่แผ่นหลังของนักเรียนบางคนแทบไม่ขยับเขยื้อนแม้ใช้ความพยายามอย่างมากแล้วก็ตาม เป็นเพราะลมหายใจตื้นเกินไปหรือไม่ก็หลังตึง
การหายใจด้วยท้องถูกสอนในคลาสโยคะและสมาธิ การหายใจให้ลึกลงถึงท้องน้อยช่วยทะลุทะลวงเนื้อเยื่อในร่างกายและลดรอบการหายใจใน 1 นาที การหายใจด้วยกระบังลมเพิ่มประสิทธิภาพระบบหายใจ ช่วยให้หัวใจทำงานน้อยลงและเก็บรักษาพลังชีวิต
อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคจากวิคเตอร์ ชึง ครูโยคะของฉัน ความสำคัญอยู่ที่กระดูกสันหลัง เรารู้สึกอย่างไรในกระดูกสันหลังทุกข้อ ปิดหรือเปิด? หากไม่รู้สึกถึงการยืดขยายหรือพื้นที่ว่างในแต่ละข้อต่อ การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังนั้นเท่ากับไม่ได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ว่างภายใน หากลมหายใจไม่สามารถทะลุทะลวงผ่านเนื้อเยื่อในแต่ละชั้นลงไปถึงกระดูก การหมุนเวียนของลมปราณย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
ผู้ฝึกหยินเพียรสังเกตลมหายใจ เราจะหายใจเข้าลงไปยังแผ่นหลังเพิ่มขึ้น และหายใจออกจากทางด้านหน้าร่างกายได้อย่างไร ลมหายใจควรจะลึกขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หายใจเข้าเสมือนหนึ่งปอดแทรกอยู่ในเนื้อกระดูก เพื่อให้แน่ใจว่าลมปราณจะถูกส่งผ่านลงไปถึงกระดูกได้
ลมหายใจออกยาวได้แค่ไหน?
การหายใจออกคือความว่างเปล่าอันสมบูรณ์เต็มเปี่ยม ร่างกายสามารถรู้สึกได้ถึงการชะล้างบางอย่างออกไปไม่ต่างจากการทำความสะอาดบ้าน พื้นที่ว่างเปล่านี้อยู่ต่ำกว่าสะดือลงไป บริเวณท้องน้อยจึงถือเป็นขุมพลังแห่งลมหายใจออก ในช่วงแรก เราอาจรู้สึกที่สะดือก่อนแล้วจึงค่อยเคลื่อนต่ำลง โดยทั่วไปการหายใจออกลงถึงท้องน้อยเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง เมื่อพลังงานติดขัดบริเวณท้องน้อย จะส่งผลกระทบต่อท้องช่วงบน และช่วงอก
จัดตำแหน่งร่างกายให้เหมาะสมขณะอยู่ในอาสนะ อย่าปล่อยให้ศีรษะยื่นขณะนั่ง ดึงศีรษะกลับและให้ตั้งอยู่ในแนวเดียวกันกับกระดูกสันหลัง หากศีรษะยื่นไปข้างหน้า หมายถึงจักระที่ลำคอถูกปิด การหายใจจะยิ่งยาก ลมหายใจไม่อาจเคลื่อนลงต่ำและหยั่งรากได้ เพราะติดขัดบริเวณช่วงอก ขณะฝึกหยินโยคะ การค้างท่านานไม่ก่อเกิดประโยชน์ หากไม่อาจส่งลมหายใจให้แน่นลงถึงพื้นได้
ในอาสนะก้ม ฉันมักแนะนำผู้ฝึกให้ผ่อนคลายลำตัวช่วงบนและทิ้งไหล่ลงให้ห่างจากใบหู ไหล่ตึงส่งผลให้เกิดอาการติดขัดบริเวณหัวใจและปอด นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ อาทิ กรดไหลย้อน อาการบ้านหมุน ปวดหัวไมเกรน นอนไม่หลับและมักตื่นกลางดึก และไม่อยากอาหาร
โยคะช่วยในการบำบัดหากเราเข้าใจชัดเจนว่ากำลังทำอะไรกับร่างกาย “สุขภาพดี” ไม่ได้วัดจากผลตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลเสมอไป หากมองอีกมุมสุขภาพดี คือ สภาวะที่ “ชีวิตสนับสนุนให้เกิดชีวิต” เป็นสภาวะที่ร่างกายเฉลียวฉลาดพอที่จะสร้างเซลล์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากต้นไม้ เพื่อให้ผ่านฤดูหนาวอันแห้งแล้งไปได้ จำต้องผลัดใบและกิ่งก้านสาขาให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง จากยืนต้นใกล้ตายก็กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ร่างกายก็เช่นเดียวกัน ผลัดเซลล์ใหม่ทุกวัน เมื่อเข้าสู่สภาวะหยินอย่างถึงที่สุด การเก็บสะสมพลังจะเกิดขึ้น ร่างกายจะสามารถพุ่งกลับขึ้นสู่สภาวะหยางได้อีกครั้ง
ในทฤษฎีหยิน & หยาง การเคลื่อนเข้าสู่สภาวะหยินอย่างที่สุดเท่านั้นจึงจะทำให้หน่อหยางผุดขึ้นได้ พลังฝั่งหยางไหลเวียนทางฝั่งซ้าย หากฝั่งขวาของร่างกายอ่อนแรง จะส่งผลถึงพลังหยางที่ไหลเวียนทางฝั่งซ้าย
เพื่อให้ชีวิตยืนยาว เราต้องเข้าใจว่าจะสร้างชีวิตใหม่จากชีวิตเดิมได้อย่างไร นี่คือวิถีธรรมชาติอันเรียบง่าย สังเกตสัตว์จำศีลในฤดูอันหนาวเหน็บ พวกมันต้องอยู่นิ่งๆ โดยไม่มีอาหาร เพื่อประคองชีวิตให้รอด
การเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบ ท้ายที่สุดต้องนำไปสู่ความนิ่ง หากเราไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ความนิ่งได้ พลังงานซึ่งเกิดจากเคลื่อนไหวจะกระจัดกระจาย ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งสำคัญที่สุดในการฝึกหยินโยคะ ลมหายใจทำงานในขณะที่ร่างกายนิ่งอยู่ในอาสนะ ไม่ว่าเราอยู่ในอาสนะใดก็ตาม หากรักษาความนิ่งไว้ได้ นำมาซึ่งการสะสมพลัง เมื่อนั้นเราไม่ต้องการอาสนะมากมาย เพราะเพียงไม่กี่อาสนะก็มีพลังมากพอที่จะช่วยให้ร่างกายชาร์จแบ็ตได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่างจากต้นไม้ที่ยืนหยัดผ่านฤดูกาลแล้วฤดูกาลเล่า
เรื่อง พรรณสิริ จิตรรัตน์ (ครูอ้อม หยินโยคะ)
www.facebook.com/YinYogaThailand
Email : cpansiri@yahoo.com, yinyogathailand@gmail.com
Line ID : aom_yinyoga