Inner Communication เพราะการรับฟังเสียงของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ

Inner Communication เพราะการรับฟังเสียงของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

ตัวผมเองตั้งคำถามให้กับสิ่งต่างๆ ในชีวิตเสมอว่าทำไมมันเป็นอย่างงั้นอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วคิดต่อไปว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้มันจะเป็นยังไงนะ แล้วก็ทดลองทำดู ตอนเด็กๆ ที่บ้านผมมีนาฬิกาแขวน ผมก็สงสัยว่าทำไมลูกตุ้มมันแกว่งได้ยังไง ก็เลยปีนดู จับดูแล้วตัวลูกตุ้มมันก็หลุดออกมา แล้วมันอยู่สูงก็เลยเอาใส่กลับไปไม่ได้ พ่อเดินเข้ามาเห็นก็เลยตี ทำโทษตามปรกติเพราะตอนเด็กจะซนมาก ของเล่นกี่ชิ้นที่ซื้อมาจะต้องแกะออกมาดูว่ามันทำงานอย่างไร บางชิ้นฝรั่งทำเกินบ้าง ญี่ปุ่นทำขาดบ้าง ทำพังไปหลายชิ้น ผมอยากรู้ว่าทำไมตุ๊กตาหุ่นยนต์ นี้ถึงเดินได้ ก็เอาไขควงมาแกะดู แล้วหุ่นยนก็กลายเป็นพิการไป ไปเที่ยวที่ Sea World ก็เห็นเขามีฟันปลาฉลามยักษ์บนแท่นโชว์ แล้วเขาก็กั้นคอกไว้ไม่ให้คนเข้าไปจับเล่น ผมก็อยากรู้ว่าฟันปลาฉลามมันจะคมแค่ไหน ทำไมมันถึงกินคนได้ เลยลอดที่กั้นเข้าไปลูบดูสิว่ามันคมแค่ไหน......... เสียง Alarm ดังขึ้นลั่นเลย ผมก็วิ่งหนี ดีว่าไม่มีร.ป.ภ.วิ่งไล่ เลยรอดตัวไป

 

จำได้ตอนเด็กๆ อายุประมาณ 16-17 สมัยนั้นพี่ชายเรียนอยู่ที่ LA แล้วเขาก็พาไปเที่ยวลาสเวกัส เห็นเขามีสัญญาณเตือนไฟ มันเขียนว่า “Pull” แล้วมี ลูกศรชี้ลงมา ผมก็เข้าไปดึง เท่านั้นเสียง Fire  Alarm ก็ดังลั่นทั้งโรงแรมเลย ผมก็รีบวิ่งกลับไปที่ห้องพักพี่ชายกับเพื่อนนั่งอยู่ในห้องเห็นผมวิ่งเข้ามาพร้อมกับเสียง  Alarm ก็เลยโดนด่าซะยกใหญ่ แล้วพี่ก็ถามว่า ไปดึงสัญญาณเตือนไฟทำไม ผมก็บอกว่า ก็มันบอกให้ Pull ผมก็ดึง ก็อยากรู้ว่าดึงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น พอดึงเสร็จมันก็ร้องแล้วก็ทำให้มันหยุดไม่ได้ เลยวิ่งกลับมาหลบที่ห้อง พี่ชายต้องโทรลงไปบอก ฝ่ายรักษาความปลอดภัยว่า มันเป็นอุบัติเหตุเด็กไปเล่นแล้วมันเกิดดังขึ้น เรื่องเลยยุติโดยดี

 

ผมสนใจว่าอะไรทำให้สิ่งต่างๆ ทำงาน อะไรทำให้โลกหมุนไป แต่ไม่เคยคิดที่จะสนใจว่าร่างกายเราทำงานอย่างไร หรือ อะไรทำให้ชีวิตเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น จนกะทั่งมาเรียนโยคะอย่างจริงจัง เริ่มศึกษาเรื่องของ ร่างกาย เรื่องของ  Anatomy และระบบเนื้อเยื่อของร่างกาย จนกระทั่งมาศึกษาเรื่องของจิต และจิตใต้สำนึก NLP รวมทั้งการโปรแกรมจิตเพื่อที่จะเข้าใจว่า ชีวิตเราทำงานอย่างไร อะไรเป็นเครื่องผลักดันให้เรา ประพฤติปฏิบัติตัวในแบบที่เราเป็น

 

ผมเป็นคนประเภท ที่ชอบแหกกฎ ชอบทำตามใจตัวเอง และชอบค้นคว้าหาคำว่าใช่ด้วยตัวเอง ตอนแรกในการสอนโยคะของผม ผมรู้สึกว่าต้องทำตามที่ครูบอก จะรู้สึกผิดถ้าสอนโยคะแตกต่างจากที่เรียนมา ถูกกำหนดว่าต้องทำตามนี้นะ ทำตาม  Alignment อย่างนี้ ต้องทำตาม Sequence อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ถูกต้อง  จนกระทั่งได้รู้จักการสอนของ  Vanda Scaravelli จาก หนังสือ Awakening The Spine เมื่อสี่ปีก่อน ในหนังสือ จะมีรูปครู  Vanda  ซึ่งอายุราวๆ แปดสิบ แสดงท่าอาสนะ ในระดับ Advance ดูท่านทำได้อย่างง่ายดาย เหมือนร่างกายมันไม่มีแรงต้านเลย หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนความเชื่อของผมเลยว่า การฝึกโยคะไม่จำเป็นต้องทรมาน  คำๆ หนึ่งที่  Vanda พูดคือ “Our Body want to Sing!!” แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายๆ คือ “ร่างกายของเราต้องการขับร้อง ไม่ใช่กรีดร้อง” ประโยคนี้เก็ทเลย  เพราะที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าข่มขืนร่างกาย ร่างกายเจ็บปวดทรมาน เพราะ เราต้องการที่จะให้ตัวเรายืดหยุ่น แบบรวดเร็วฉับไว แบบเปิดปุ๊ปติดปั๊ป  ใจของเราไปเร็วกว่าร่างกายทั้งดึงทั้งดัน ทั้งทึ้งร่างกายเพื่อให้เป็นไปตามใจเรา  รู้สึกว่าเหมือนกับว่าเรากำลังสู้กับร่างกายตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการฝึกโยคะ ท่าหลายๆ ท่าสร้างความเจ็บปวด จบวันต่อมา พอจะทำท่าเดิมรู้สึกเลยว่าร่างกายต้านจิต มันต้านตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มเข้าท่าด้วยซ้ำ แต่ด้วยความต้องการของตัวเองก็บังคับร่างกายอีก มันเป็น วัฏจักรที่วนไปไม่มีวันจบ แต่พอได้อ่าน Awankening The Spine เล่มนี้   ความคิดเปลี่ยนเลย

 

 

เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสเรียนกับครู Diane Long ซึ่งเป็นลูกศิษย์สายตรง ของครู Vanda Scaravelli ในตอนวันแรกๆ งงมาก เราการสอนของคุณ Diane จะมีความละเอียดอ่อนในเรื่องของความรู้สึกของร่างกาย เช่น ตอนทำท่า Wheel หรือ กงล้อ ครูจะพูดว่า” Let the head invites the spine to the hip and the hands invite the spine to here. หรือ “If the muscle disregards the freedoms of this hip and knee joint than the muscle can not involved in the freedom of Pelvic joints.” แล้วครูก็จะพูดซ้ำๆ ผมคิดในใจพูดอะไรวะไม่เห็นรู้เรื่องเลย ไม่เข้าใจเลย นั่งฟังมาอาทิตย์นึงก็ไม่เข้าใจ พอถามแก แกก็เรียกออกไปทำตรงหน้าแก แล้วพูดแบบเดิมอีก ถามเพื่อนฝรั่งที่เรียนด้วยกันว่าเข้าใจที่แกพูดหรือป่าวเพราะ คิดว่าภาษาอังกฤษเราไม่ดีพอ แต่ปรากฏว่าเพื่อนฝรั่งก็ไม่มีใครเข้าใจภาษาของครูเหมือนกัน แต่พอหลังจากที่ได้ฝึกกับครูไดแอนมาอาทิตย์นึง กลับมาฝึกเองที่ห้องพักที่โรงแรม เสียงของครูก้องอยู่ในหัว สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นคือ ร่างกายมันรู้เองว่าจะต้องทำยังไง มันเหมือนกับว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายสื่อสารซึ่งกันและกัน ระบบกล้ามเนื้อระบบเนื้อเยื่อไร้การต่อต้าน ผมพึ่งจะเข้าใจคำว่า “Freedom” ในการฝึกอาสนะ เป็นครั้งแรก การฝึกใน สไตล์ที่ ครูไดแอนสอนนั้น ไม่มีท่ายาก Forward bend, Downdog แต่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ มันไม่ได้สำคัญที่ท่า แต่มันสำคัญที่หลักการ ซึ่งเข้าใจหลักการแล้ว เราจะเอาไปประยุกต์ใช้กับอะไรก็ได้  หลังจากจบสองอาทิตย์ ที่เรียนกับแก ร่างกายเปลี่ยน การมองร่างกายตัวเองเปลี่ยน การฝึกอาสนะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย สะท้อน กับภาวะของจิต เมื่อร่างกาย รู้สึกเป็นอิสระ ภาวะของจิต ก็เป็นอิสระด้วยเช่นกัน การเข้าใจ ในการทำงานของระบบเนื้อเยื่อเกิดขึ้นจากภายใน  ไม่ใช่จากตำรา  ทำให้การฝึกอาสนะเป็นเรื่องง่ายขึ้น และลดแรงต้านจากร่างกายตัวเอง  พอภาวะจิตสำนึกและภาวะของจิตใต้สำนึกสอดคล้องประสานกัน  ใจก็รู้สึกเป็นอิสระ เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นในชีวิต ร่างกายเป็นครูที่ดีที่สุด  หลังจากนั้นผมเริ่มเข้าใจ ว่าทำไม ภาษาที่ครูไดแอนใช้ มันลึกลับซับซ้อน ครูไม่ต้องการให้เราคิดหาเหตุผล ครูต้องการที่จะ สลายความเคยชินเก่าๆ  เพื่อให้สมองของเราไม่ต้องคิด  ให้ใจของเราเป็นผู้ค้นหาคำตอบเอง  ลองนึกดูนะครับว่า ร่างกายของเราถูกสั่งการด้วยจิตใต้สำนึกของเรา  ถ้าเราสามารถสื่อสารกับร่างกายเราได้ เราก็จะสามารถเข้าใจการทำงานของภาวะจิตของเราได้เข่นกัน

 

โยคะทุกๆ แขนงมีประโยชน์ต่างกัน สำหรับผม การฝีกอาสนะเป็นมากกว่าท่าทางแต่มันเป็นเครื่องมือที่จะนำเราเข้าสู่โลกภายในของเรา  โยคะไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่เป็น การยกระดับชีวิต การเจริญสติภาวนา ตามรู้การเกิดดับของความรู้สึกต่างๆภายในร่างกาย ช่วยให้เรากลับมาที่บ้านของเรา ในบ้านหลังนี้ เป็นต้นกำเนิดปัญญาญาณทั้งปวง ไม่ว่าคุณจะไปเรียนจากตำรากี่พันเล่ม ไปศึกษากับครูกี่พันคน ก็ไม่เทียบเท่าความรู้ของจักรวาลภายใน

 

 

เรื่องโดย : ครูเล็ก ศิริรัชต์ กิตติคุณาดุลย์

Facebook: Lek Kittikunadul

www.innerlifeyogawithlek.com


latest articles

เข้าสู่ระบบ Asiawellness.com