การประคับประคองที่ว่างคือพลังแห่งหยินโยคะ

โดย Victor Chng

แปลและถอดความโดยพรรณสิริ จิตรรัตน์ (ครูอ้อม หยินโยคะ) easyoga ambassador

 

สิ่งที่เราหวังจากการฝึกหยินโยคะคืออะไร ผู้ฝึกหยินโยคะจะตอบว่า “เพิ่มพื้นที่ว่าง” (creating space) ตามหลักปรัชญาสางขยะ (samkhya) ที่ว่างเป็นองค์ประกอบแรกแห่งชีวิตในจักรวาล เวลากับพื้นที่ว่างรวมเป็นหนึ่งในฉับพลันทันใด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงพื้นที่ว่างโดยไม่คำนึงถึงเวลา ในมิตินี้ “เวลา” และ “พื้นที่ว่าง” จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

 

ธรรมชาติของจักรวาลคืออวกาศอันไม่มีขอบเขต เช่นเดียวกับเวลาซึ่งไม่มีจุดสิ้นสุด สิ่งนี้คือความจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเชื่อมโยงตัวตนเข้ากับผืนโลก (Earth) เรายึดติดอยู่ในเวลาในโลกเช่นกัน ตัวตนของเราที่เชื่อมโยงเข้ากับความจริงสูงสุด (ultimate reality) และการดำรงอยู่แห่งความจริงสัมพัทธ์ต้องได้รับการสำรวจเพื่อเข้าถึงอิสระภาพ (Liberation)

 

ในอินเดียโยคะ คือ มุมมองทางปรัชญา (Darshana) Darshana หมายถึงวิถีในการมองหรือรับรู้ มาจากรากศัพท์ Darshan (มองเห็นหรือดู) วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าการฝึกโยคะของเราพัฒนาหรือไม่ ให้ตรวจสอบมุมมอง ความเชื่อ และความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เราจำเป็นต้องหลอมรวมประสบการณ์ส่วนตัว กับ การดำรงอยู่ตามจริง (อย่างไมีมีอคติ) เพื่อเป็นคนที่พอดีและสมดุล

 

อิสระภาพเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ (ตัวตน) กับความว่าง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์เฉพาะตนขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์อันจำกัด คือ ร่างกาย หากเราสามารถพ้นจากพื้นที่อันจำกัดในร่างกาย อิสระภาพก็ยิ่งเป็นไปได้ โยคีเรียกความสามารถนี้ว่าการขยายขอบเขตแห่งสติ (การตระหนักรู้)

 

เมื่อเราเปรียบเทียบระหว่างขอบเขตอันไพศาลของจักรวาลกับผืนโลก หรือเปรียบเทียบระหว่างการดำรงอยู่ตามจริงของสภาพแวดล้อมกับประสบการณ์เฉพาะตัวในร่างกาย เรากำลังเผชิญหน้ากับทวิลักษณ์ (Duality) คือ หยินและหยาง (สัมบูรณ์ VS เฉพาะตน) อิสรภาพ คือ การขยายขอบเขตประสบการณ์เฉพาะตนให้กว้างขวางไปกว่าร่างกายนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความว่างที่ใหญ่กว่า ดังเช่น Paramhamsara Yogananda ได้อธิบายไว้ “ร่างกายของฉันเล็กเกินกว่าการตระหนักรู้ของฉัน” ซึ่งหมายความว่า เราจำเป็นต้องสำรวจ “ที่ว่าง” ทั้งในระดับกาย อารมณ์และจิต

 

ในการวิจัยเกี่ยวกับพังผืด มีมุมมองที่พัฒนาขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของเนื้อเยื่อมนุษย์ พังผืดเริ่มพัฒนา 2 สัปดาห์หลังจากการพัฒนาของตัวอ่อน ดังนั้น พังผืดคือเนื้อเยื่อพื้นฐานของร่างกาย เป็นช่องว่างในแต่ละชั้นของเนื้อเยื่อจากชั้นนอกเข้าสู่ชั้นในสุด ห่อหุ้มกระดูกทุกท่อนเพื่ออุ้มชูโครงสร้างและก่อรูปทรงของร่างกาย

 

เราจำเป็นต้องตระหนักว่าร่างกายที่แข็งแรงคือร่างกายที่มีช่องว่างภายใน ไม่เพียงช่องว่างระหว่างเนื้อเยื่อแต่ละชั้น เราต้องการช่องว่างในระดับเซลล์ ในทางการแพทย์ เราไม่ค่อยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงช่องว่างในร่างกายในฐานะตัวช่วยในการบำบัด อย่างไรก็ตาม มีการจับตามองว่า เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่ไม่มีช่องว่างระหว่างเซลล์

 

ในหยินโยคะ การสร้างพื้นที่ว่างในร่างกายคือการเยียวยารูปแบบหนึ่ง เราใช้อาสนะเป็นเครื่องมือ “ตัดเพื่อเปิด” เข้าสู่ภายใน ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงช่องว่างเพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ เราก็สามารถเปลี่ยนสถานะสุขภาพของร่างกายนี้ได้เช่นกัน หยินโยคะเมื่อเสริมด้วยการแพทย์แผนจีนหรือการแพทย์แผนดั้งเดิม นำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการเยียวยาอันทรงพลัง  

 

ในการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงพังผืด เราต้องทำงานกับเนื้อเยื่อผ่าน “แรงยืดอันคงที่” เมื่อใส่แรงกดลงพาดผ่านพังผืดในช่วงเวลาหนึ่ง คอลลาเจนและไฟเบอร์ที่เพิ่มขึ้น (fibroblast effect)ในพังผืด จะส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของเนื้อเยื่อ วิถีหยิน ใช้อาสนะหลากหลายส่งไปยังข้อต่อข้อเดิมเพื่อกระตุ้นให้ผลลัพธ์นี้ดียิ่งขึ้น

 

ที่สุดแล้ว การขยายขอบเขตการตระหนักรู้จะช่วยให้เราเข้าใจโยคะ ถึงกระนั้น ประสบการณ์เฉพาะตนในร่างกายจำต้องเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับแรกก่อน ถ้าเราสามารถเพิ่มที่ว่างในระดับกายได้ เราจะสามารถขยายขอบเขตที่ว่างในระดับอารมณ์การกระทำ การสื่อสารและความคิดของเราจะเปี่ยมด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขยายขอบเขตจิตใจ คือ ความตระหนักรู้ (สติ) เวลาคือกุญแจไขเข้าสู่กระบวนการนี้ ความอดทน ความสามารถในการปล่อยวางและพลังแห่งการประคับประคอง เมื่อเรามองตัวเองเป็น “ภาชนะ” ซึ่งปล่อยให้ประสบการณ์ทั้งมวลผ่านเข้ามาโดยไม่ต่อต้าน เมื่อ “เวลา” และ “ที่ว่าง” เกาะเกี่ยวเข้าด้วยกัน เราจะเข้าถึงอิสระภาพ


latest articles

เข้าสู่ระบบ Asiawellness.com